search icon mobile
search on header
จำนวนผู้เข้าชม 6,808,974
ข่าวปลอม
ข่าวอื่นๆ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ ข่าวไมโครเวฟอันตรายกว่าระเบิดปรมาณู ไม่เป็นความจริง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ข่าวไมโครเวฟอันตรายกว่าระเบิดปรมาณู ไม่เป็นความจริง แนะขณะใช้เตาไมโครเวฟอย่าเอาหน้าไปจ้องดูอาหาร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตาได้ หากพบการรั่วของคลื่นไมโครเวฟ สามารถส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบได้

วันที่ 11 มิ.ย. 2562 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลทางสังคมออนไลน์ว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกใช้เตาไมโครเวฟก่อนสิ้นปีนี้ ประชาชนทุกหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติ ตามข้อกำหนดจะต้องถูกปรับและอาจติดคุก เหตุผลที่ห้ามเตาไมโครเวฟในดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็นงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา พวกเขาค้นพบคลื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเตาไมโครเวฟ ซึ่งอันตรายร้ายแรงกว่าระเบิดปรมาณู ที่ ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ในปี ค.ศ. 1945 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาหารที่อุ่นในเตาไมโครเวฟนั้นมีการสั่นสะเทือนและการแผ่รังสีที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ โดยในปี ค.ศ. 2021 การผลิตเตาไมโครเวฟจะหยุดลง

ส่วนเกาหลีใต้ และจีนวางแผนจะโละทิ้งในปี ค.ศ. 2023” ข้อความในสังคมออนไลน์ดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดความสับสน ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้ หลักการทำงานของเตาไมโครเวฟเป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟผ่านเข้าไปในอาหารซึ่งจะทำให้เกิดการสั่นของโมเลกุลของน้ำในอาหาร เมื่อโมเลกุลของน้ำสั่นจะเกิดความร้อนขึ้นจนทำให้อาหารสุก จะเห็นว่ากลไกการทำงานไม่มีรังสี เกิดขึ้นเลย จึงไม่มีการตกค้างของรังสีใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องราวในสื่อออนไลน์นี้จึงไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ อันตรายที่กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เมื่อท่านใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารเสร็จ ควรเปิดประตูเครื่อง คลื่นไมโครเวฟก็หมดไปไม่มีการตกค้าง

โดยปกติเตาไมโครเวฟที่ได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะมีความปลอดภัยสูง คลื่นไมโครเวฟที่ออกมาจากเตาไมโครเวฟนั้น เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการแตกตัว ไม่ทำให้โมเลกุลของสารเปลี่ยน และไม่มีการตกค้างจึงไม่มีอันตราย อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากที่เตาไมโครเวฟจะมีคลื่นรั่วออกมาเกินจากระดับมาตรฐาน มอก.1773-2542 กำหนด (ที่ระยะ 5 เซนติเมตรจากผิวเตารั่วได้ไม่เกิน 5 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร)

ทั้งนี้อันตรายที่เกิดขึ้นได้นั้น มักจะเกิดจากเตาไมโครเวฟที่มีความเก่ามากๆ เป็นสนิมผุ วัสดุเคลือบลอก บานพับประตูชำรุด หรือกระจกแตก ซึ่งอาจมีคลื่นไมโครเวฟรั่วออกมา หากมีความเข้มข้นพอจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวได้ และบางคนที่ชอบเอาหน้าไปใกล้ๆ เตาไมโครเวฟเพื่อดูอาหารก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรเข้าใกล้เตาไมโครเวฟขณะเครื่องกำลังทำงาน เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟไม่สามารถมองเห็นได้และไม่มีกลิ่น ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด

สำหรับประชาชนที่สนใจจะตรวจสอบการรั่วของเตาไมโครเวฟ สามารถนำเตาไมโครเวฟมาตรวจได้ที่ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ ในเวลาราชการ สำหรับเตาไมโครเวฟที่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ติดที่เตาไมโครเวฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความปลอดภัย

ที่มา: www.pptvhd36.com

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด