search icon mobile
search on header
จำนวนผู้เข้าชม 6,808,974

ข่าวปลอม อย่าแชร์! สาวอายุ 29 ปี กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สาเหตุจากฉีดวัคซีนซิโนแวค

ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง สาวอายุ 29 ปี กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สาเหตุจากฉีดวัคซีนซิโนแวค ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีหญิงสาววัย 29 ปี ที่กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคนั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า กรณีหญิงรายดังกล่าว ที่มีเลือดออกในสมอง สาเหตุเกิดจากภาวะผิดปกติกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำ (AVM) ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

โดยคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน (Adverse Events Following Immunization : AEFI) ได้พิจารณากรณีหญิง อายุ 29 ปี จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอาการเลือดออกในสมอง โดยมีประวัติรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อ 2 วันก่อนเกิดอาการ ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งจากรายงานการสอบสวนโรค และภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวมีภาวะผิดปกติที่มีกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำในสมอง (Arteriovenous malformation) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติมาแต่กำเนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ มักมาพบแพทย์และตรวจพบเมื่อหลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้แตก ซึ่งอาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือดในสมอง หรืออาจมี ชัก ปวดศีรษะ ร่วมด้วยได้ ในคนทั่วไปพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10-18 รายต่อประชากรแสนคน และบุคคลที่มีความผิดปกติดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการพิการหรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ จากผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบภาวะเลือดออกในสมอง และตรวจพบความผิดปกติที่กลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำที่สมอง ซึ่งมักเป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิด ความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงสรุปว่า สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าวเป็นจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้มีเลือดออกในสมอง และไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญภายหลังการได้รับวัคซีน (Coincidental event)

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และวิธีการป้องกันตนเอง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร. 1422

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรณีหญิงรายดังกล่าว ที่มีเลือดออกในสมอง สาเหตุเกิดจากรอยโรคเดิม ที่มีภาวะผิดปกติกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำ (AVM) ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด