ตามที่ได้มีผู้ส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องหลอดเลือดขอด แผลเปื่อยที่ขา แข้งดำ ขากะดำกะด่าง คันเรื้อรัง สะเก็ดเงิน สิวเลยวัย ฝีรักแร้ ขาหนีบ ก้น เกิดจากโรคน้ำเหลืองเสีย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการส่งต่อข้อมูลโดยระบุว่า หลอดเลือดขอด แผลเปื่อยที่ขา แข้งดำ ขากะดำกะด่าง คันเรื้อรัง สะเก็ดเงิน สิวเลยวัย ฝีรักแร้ ขาหนีบ ก้น เกิดจากโรคน้ำเหลืองเสีย ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โรคน้ำเหลืองเสีย ไม่มีอยู่จริงในทางการแพทย์ เป็นเพียงภาษาชาวบ้านที่ใช้เรียกลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือเรียกอีกชื่อว่า Impetigo โดยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผลที่เกิดจากรอยถลอกหรือการแกะเกา บริเวณที่เป็นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน ผื่นแฉะ อาจบวมแดงและมีน้ำเหลืองไหลได้ ซึ่งถ้ามีอาการแล้วดูแลรักษาที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดการลุกลาม และหายช้าได้
ทั้งนี้ การรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรง โดยมีทั้งสบู่ฟอกเพื่อฆ่าเชื้อ การให้ยาทา รวมถึงการใช้ยากินหรือยาฉีดในกรณีที่มีอาการรุนแรง ฉะนั้นผู้ที่มีอาการควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ยังควรดูแลเรื่องความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หากพบเจอสิ่งสกปรกควรรีบล้างผิวหนังบริเวณนั้น และไม่แกะเกาบริเวณรอยโรคหรือตำแหน่งที่เป็นผื่น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังและการลุกลามของรอยโรคด้วย ในส่วนของอาหารการกินต่าง ๆ ไม่ได้มีผลต่อตัวโรคผิวหนังชนิดนี้แต่อย่างใด
จากประเด็นที่มีการกล่าวถึงเส้นเลือดขอด สะเก็ดเงิน สิว ฝีตามซอกพับต่าง ๆ และรอยดำนั้น ไม่ได้มีสาเหตุจากน้ำเหลืองเสีย การอ้างอิงโฆษณาสรรพคุณยาปรับน้ำเหลืองเพื่อรักษาโรคผิวหนังนั้นถือว่าไม่เป็นความจริง และไม่ได้อยู่ในมาตรฐานในการรักษาโรคผิวหนังดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.iod.go.th หรือโทร. 02-354-5222
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : โรคน้ำเหลืองเสีย ไม่มีอยู่จริงในทางการแพทย์ เป็นเพียงภาษาชาวบ้านที่ใช้เรียกลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ทั้งนี้ โรคข้างต้นนั้นไม่ได้มีสาเหตุจากน้ำเหลืองเสียแต่อย่างใด