search icon mobile
search on header
จำนวนผู้เข้าชม 6,808,974

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือสูง เพราะเกิดจากหมอกควันข้ามแดน จริงหรือ?

ตามที่มีการส่งต่อข่าวสารในสื่อต่าง ๆ ถึงเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือสูง เพราะเกิดจากหมอกควันข้ามแดน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง

สถานการณ์ควันพิษและฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟป่าภายในประเทศ และจากนอกประเทศ โดยเมื่อดูแผนที่แสดงจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า ประเทศไทยมีจุดความร้อน จำนวน 3,013 จุด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 6,332 จุด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,710 จุด ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อดูข้อมูลจุดความร้อนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือ จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้าภาคเหนือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ผ่านมาพบว่า มีจุดความร้อนจำนวน 978 จุด และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมามีจุดความร้อน จำนวน 768 จุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาคเหนือมีจำนวนจุดความร้อนลดลง ดังนั้น จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษ ได้ออกประกาศ เรื่อง คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานบริเวณภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ฉบับที่ 2 ระบุว่า วันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน สถานการณ์คุณภาพอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยพบปริมาณฝุ่น PM 2.5 ณ เวลา 09.00 น. มีค่าระหว่าง 43.1-199.0 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ”

ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบไฟดี (FireD) ตั้งแต่วันที่ 7-11 มีนาคม 2567 และแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องในการทดลองอนุมัติการบริหารจัดการเชื้อเพลิงระบบไฟดี (FireD) จำนวน 12 แห่ง งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วย

2. แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ โดยงดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน (PM 2.5) ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรค COPD เด็ก และคนชรา หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ และควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ (ห้องลดฝุ่น) และเตรียมยา อุปกรณ์จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

3. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) สั่งการให้หน่วยป้องกันรักษาป่าในสังกัด ประสานงานกับศูนย์บัญชาการฯ อำเภอ เพื่อทำการดับไฟป่า รวมทั้งควบคุม ระมัดระวัง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม่ให้ข้ามคืน และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดลักลอบเผาป่า ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้มอบหมายภารกิจให้ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ จำนวน 2 ชุด มาร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย

4. ในกรณีมีเหตุเกิดไฟไหม้พื้นที่ป่าจำนวนมาก และเกินความสามารถของการดับไฟป่าในภาคพื้นดิน จังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานอากาศยานปีกหมุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติงานดับไฟ โดยที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ได้ทำการทิ้งน้ำดับไฟป่าในท้องที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

โดยประชาชนทั่วไปสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK

website stamp 4341

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากส่วนประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://cado.mnre.go.th หรือ โทร. 02-278-8587

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด