search icon mobile
search on header
จำนวนผู้เข้าชม 6,808,974

ลดน้ำหนัก ดีท็อกซ์ลำไส้ ด้วยสูตรน้ำส้มสายชู โยเกิร์ต และน้ำอัดลม ข่าวปลอม อย่าแชร์!

ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง ลดน้ำหนัก ดีท็อกซ์ลำไส้ ด้วยสูตรน้ำส้มสายชู โยเกิร์ต และน้ำอัดลม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็น ข้อมูลเท็จ

จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่าให้นำน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ นมเปรี้ยว 2 ขวดเล็ก และน้ำสไปรท์ 1 ขวดเล็ก มาผสมรวมกันแล้วดื่มเพื่อลดน้ำหนักนั้น นักปฏิบัติการวิจัยของสถาบันโภชนาการ ได้ให้ข้อมูลว่า จากสูตรดังกล่าวไม่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ แถมยังมีโอกาสเพิ่มน้ำหนัก เพิ่มการสะสมของไขมันบริเวณหน้าท้องอีกด้วย เมื่อพิจารณาสูตรจากส่วนผสมที่ละอย่าง ได้แก่

  1. น้ำส้มสายชู ที่คาดว่าน่าจะเริ่มต้นมาจากแอปเปิลไซเดอร์หรือผลไม้ที่ผ่านการหมักดอกแล้วนำไปกลั่น ยังไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุนอย่างชัดเจนว่าช่วยลดน้ำหนักหรือดีท็อกซ์ได้
  2. นมเปรี้ยว มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกับสุขภาพ คือแคลเซียม และวิตามินต่างๆ แต่ว่าในนมเปรี้ยวปกติจะมีน้ำตาลอยู่ที่ 2-3 % ซึ่งมีส่วนทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับน้ำตาลเพิ่ม 8.5 กรัม
  3. น้ำสไปรท์ จะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบที่ประมาณ 9 % โดยหนึ่งขวด 450 มิลลิลิตร จะมีน้ำตาล 40.5 กรัม

เมื่อทั้งสามส่วนผสมรวมกันที่น่าเป็นห่วงคือ ปริมาณน้ำตาล ที่สูงถึง 49 กรัม เกินจากที่องการอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้ว่า ในหนึ่งวันควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม สำหรับผู้ที่อยากลดน้ำหนักหรือดีท็อกซ์ ให้ทานผักในทุกมื้ออาหารและทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อยจะดีกว่า เพราะมีใยอาหารที่จะช่วยตรงนี้อยู่แล้ว โดยในหนึ่งวันแนะนำให้กินผัก และผลรวมกันอยู่ที่ 400-500 กรัม หลีกเลี่ยงกลุ่มอาหาร หวาน มัน เค็ม ก็จะมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพป้องกันโอกาสน้ำหนักเกินได้

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อย่างถูกต้อง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 8002380 หรือติดตามข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ https://inmu2.mahidol.ac.th/th/

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลจาก : ชัวร์ก่อนแชร์

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด