search icon mobile
search on header
จำนวนผู้เข้าชม 6,808,974

สมอ. ตรวจจับโกดังสินค้าเหล็กด้อยคุณภาพ กว่า 1,000 ตัน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง สมอ. ตรวจจับโกดังสินค้าเหล็กด้อยคุณภาพ กว่า 1,000 ตัน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

สมอ. กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ภายใต้ภารกิจ “Quick Win” โดยออก 8 มาตรการเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแล ควบคุม และส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

  1. มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) 
  2. มาตรการจับจริง-ปรับจริง 
  3. มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล 
  4. มาตรการให้ความรู้ 
  5. มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน 
  6. มาตรการสร้างความตระหนัก 
  7. มาตรการใกล้ชิดประชาชน 
  8. มาตรการเพิ่มอาวุธ 

ซึ่ง สมอ. ได้เข้าตรวจค้นศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา พบเหล็กไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ทั้งเหล็กตัวซี เหล็กฉาก และเหล็กแผ่นดำ น้ำหนักรวม 1,133 ตัน มูลค่า 31,926,078 บาท สมอ. จึงดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้ เนื่องจากเหล็กเป็นสินค้าต้นน้ำซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเลเซอร์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์  เป็นต้น หากนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานมาใช้จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สมอ. ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งในตำบลสีดา อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา พบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 

  1. เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น หรือ “เหล็กตัวซี” เกรดบี มีรอยต่อเชื่อม และไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน จำนวน 42,754 ท่อน น้ำหนัก 989.224 ตัน มูลค่า 27,908,733 บาท 
  2. เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน หรือ “เหล็กฉาก” ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน โดยระบุว่าเป็นของเสีย แต่อยู่ในสภาพร้อมจำหน่าย จำนวน 121 ท่อน น้ำหนัก 1.754 ตัน มูลค่า 54,450 บาท  
  3. เหล็กแผ่นตัดรีดร้อน หรือ “เหล็กแผ่นดำ” คละขนาด ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน ไม่ระบุชั้นคุณภาพ และไม่มีรายละเอียดเครื่องหมายและฉลาก จำนวน 2,845 แผ่น น้ำหนัก 142.314 ตัน มูลค่า 3,962,895 บาท โดยน้ำหนักรวมของเหล็กทั้ง 3 รายการ จำนวน กว่า 1,133 ตัน มูลค่า 31,926,078 บาท 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้มีการโฆษณาขายสินค้าทางออนไลน์ และใช้เป็นแหล่งพักสินค้าเพื่อรอส่งให้กับผู้สั่งซื้อ จึงได้ยึดอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ สำหรับผู้ประกอบการรายนี้มีความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

website stamp 3496

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.tisi.go.th/ โทรศัพท์ : 0-2430-6815

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด